เมนู

สนามบินบึงกาฬ สวย แปลกตา พร้อมเปิดใช้ปี 2573

07 ส.ค. 2024

ท่าอากาศยานบึงกาฬถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่มีความสำคัญ เพราะเป็นโครงการลงทุนที่จะส่งเสริมพื้นที่เศรษฐกิจ สนับสนุนการค้าชายแดน ส่งเสริมระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก – ตะวันตก (East – West Economic Corridor) แม้ว่าโดยรอบจังหวัดบึงกาฬจะมีท่าอากาศยานในจังหวัดใกล้เคียงอยู่แล้ว แต่ภาพรวมก็มีระยะห่างเกิน 200 กิโลเมตร จึงเข้าข่ายในการขออนุญาตก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่ และเชื่อมต่อสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 เชื่อมลาวถึงเวียดนาม

ตัวอาคารผู้โดยสารได้ออกแบบโดยคำนึงถึงสถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิตอย่าง “หินสามวาฬ” โดยเน้นไปที่การจัดการกับรูปทรงของหลังคา และพื้นที่อาคารให้มีลักษณะเหมือนการเรียงตัวของหินวาฬสามก้อน และยังเสมือนธรรมชาติของจังหวัดบึงกาฬที่มีลักษณะภูมิประเทศแบบเทือกเขาสลับป่าไม้

 

ภายในอาคารผู้โดยสาร ออกแบบมาจาก ภูทอก สนามบินบึงกาฬ

โดยในพื้นที่ต่างๆ ก็ได้มีการสอดแทรกองค์ประกอบที่เป็นสัญลักษณ์เด่นของจังหวัดบึงกาฬ ทั้งรูปทรงพญานาค ผนังลวดลายผ้าพื้นถิ่น และสถานที่ที่เป็นเอกลักษณ์ ควบคู่ไปกับการผสมผสานโทนสีของจังหวัดอย่างลงตัว

ความคืบหน้าโครงการ

วันที่ 15 พฤษภาคม 2567  ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬได้ประชุมสนามบินนัดสุดท้าย ได้ผลสรุปการดำเนินการโดยจะจ่ายเงินเวนคืนปี 2569  เริ่มสร้างปี 2570 พร้อมเปิดให้บริการปี  2573

สำหรับ ท่าอากาศยานบึงกาฬ จากผลการศึกษาเบื้องต้นจะใช้งบประมาณก่อสร้างประมาณ 3,152 ล้านบาท ประกอบด้วย

  • อาคารที่พักผู้โดยสารพื้นที่ประมาณ 20,000 ตารางเมตร
  • ทางวิ่ง (รันเวย์) ขนาด 45 เมตร
  • ความยาวทางวิ่ง 2,990 เมตร
  • รองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ อาทิ แอร์บัส A320 จำนวน 180 ที่นั่ง และเครื่องบินแอร์บัส 777-200 จำนวน 305 ที่นั่ง
  • ลานจอดอากาศยาน
  • อาคารประกอบต่างๆ

ที่ตั้งของโครงการอยู่ในตำบลวิศิษฐ์ และตำบลโป่งเปือย อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ ประมาณ 4,400 ไร่ ตั้งอยู่ระหว่างทางหลวงชนบทหมายเลข บก.3013 และทางหลวงเชื่อมโยง จังหวัดอุดรธานี-บึงกาฬ (ในอนาคต) มีระยะทางห่างจากตัวเมืองบึงกาฬ และสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 5 (อยู่ระหว่างก่อสร้าง) ห่างจากที่ตั้งท่าอากาศยานบึงกาฬ ประมาณ 12 กิโลเมตร

การท่าอากาศยาน คาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารและปริมาณเที่ยวบิน โดยประเมินว่าในปี 2572 หรือปีแรกของการเปิดให้บริการ จะมีจำนวนผู้โดยสาร 149,172 คนต่อปี และมีจำนวนเที่ยวบิน 1,244 เที่ยวบินต่อปี หลังจากนั้นจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในปี 2602 คาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารสูงสุด 494,254 คนต่อปี และมีจำนวนเที่ยวบิน 4,120 เที่ยวบิน

ที่มา โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ / การท่าอากาศยาน

error: Content is protected !!