สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ – บอลิคำไซ) คืบหน้า 94% แล้วเสร็จกลางปี 2568
สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ – บอลิคำไซ) คืบหน้า 94% แล้วเสร็จกลางปี 2568 ในส่วนของงานก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงจะเป็นแบบสะพานคานขึง (Extradosed Prestressed Concrete Bridge) ความยาวรวมทั้งสิ้น 1,350 เมตร ความยาวฝั่งประเทศไทย 815 เมตร ความยาวฝั่ง สปป. ลาว 535 เมตร
อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวว่า โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ – บอลิคำไซ) จ.บึงกาฬ มีระยะทางของสะพานและถนนโครงข่ายรวม 16.340 กิโลเมตร แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 5 ตอน ฝั่งไทย 3 ตอน และฝั่ง สปป.ลาว 2 ตอน ตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.เมือง จ.บึงกาฬ และ เมืองปากซัน แขวงบอลิคำไซ สปป.ลาว
แนวเส้นทางในประเทศไทย มีจุดเริ่มต้นโครงการแยกจากทางหลวงหมายเลข 222 ซึ่งเป็นถนนเชื่อมต่อสายสำคัญ ระหว่างจังหวัดสกลนคร และ จังหวัดบึงกาฬ โดยสามารถเชื่อมต่อกับเส้นทางตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก – ตะวันตก (East-West Economic Corridor – EWEC) ไปยังท่าเรือน้ำลึก ที่เมืองวุงอ่าง และเมืองดานัง ประเทศเวียดนาม
ส่วนแนวเส้นทางฝั่ง สปป.ลาว จะเชื่อมต่อกับถนนหมายเลข 13 ต่อไปยังถนนหมายเลข 8 ซึ่งเป็นเส้นทางจาก สปป.ลาว ไป เมืองวินห์ เมืองฮานอย ประเทศเวียดนาม และเชื่อมต่อไปยังประเทศจีนทางตอนใต้ ผ่านทางหลวงอาเซียนหมายเลข 1 (AH1) ประเทศเวียดนาม
เมื่อดำเนินโครงการการแล้วเสร็จ จะช่วยส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานที่ได้พัฒนาไว้แล้วของแต่ละประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด เกิดการเชื่อมโยงระหว่างท่าเรือที่สำคัญในภูมิภาค สามารถลดต้นทุนและระยะเวลาในการขนส่ง ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของทั้งสองประเทศในเวทีโลก โดยคาดว่าโครงการจะก่อสร้างแล้วเสร็จกลางปี พ.ศ. 2568
ในส่วนของงบประมาณการก่อสร้างโครงการรวมทั้งสิ้น 3,930 ล้านบาท แบ่งเป็น
ฝ่ายไทย ใช้เงินงบประมาณในการดำเนินโครงการ 2,630 ล้านบาท ประกอบด้วย
- ค่าก่อสร้าง 2,553 ล้านบาท
- ค่าควบคุมงาน 77 ล้านบาท
ฝ่าย สปป.ลาว ใช้เงินกู้ 1,300 ล้านบาท จากสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) ประกอบด้วย
- ค่าก่อสร้าง 1,256 ล้านบาท
- ค่าควบคุมงาน 44 ล้านบาท
แห่งที่ 1 เชื่อมระหว่างจังหวัดหนองคายกับแขวงท่านาแล้ง ทางภาคเหนือของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) ตั้งแต่ปี 2537 เป็นต้นมา มีการค้าผ่านแดนเฉพาะด้านสะพานแห่งนี้ปีละกว่า 1 แสนล้านบาทมานานนับ 10 ปี ต่อมาได้มีการพัฒนาขยายการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว เพิ่มขึ้นอีก 3 แห่ง ได้แก่ 1) สะพานมิตรภาพไทย-ลาว
แห่งที่ 2 เชื่อมระหว่างจังหวัดมุกดาหารกับแขวงสะหวันนะเขต 2) สะพานมิตรภาพไทย-ลาว
แห่งที่ 3 เชื่อมระหว่างจังหวัดนครพนมกับแขวงคำม่วน และ 3) สะพานมิตรภาพไทย-ลาว
แห่งที่ 4 เชื่อมระหว่างจังหวัดเชียงรายกับแขวงบ่อแก้ว ทำให้ปัจจุบันมีสะพานมิตรภาพเชื่อมระหว่างประเทศไทยกับ สปป. ลาว จำนวน 4 แห่งด้วยกัน
ประเทศไทยกับ สปป. ลาว มีความสัมพันธ์กันทางด้านเศรษฐกิจมาอย่างยาวนานมีด่านพรมแดนและสะพานเชื่อมกันหลายแห่ง ซึ่งสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 5 นี้จะส่งผลดีในหลายด้า อาทิ ด้านการค้า การลงทุน การจ้างงาน รวมทั้งภาคการท่องเที่ยว เนื่องจากจังหวัดบึงกาฬมีวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่ค่อนข้างสมบูรณ์ เช่น การล่องเรือชมสายน้ำกะดิ่ง และน้ำตกวังพองหรือการรับประทานอาหารประเภทปลาลุ่มน้ำโขงและปลาแม่น้ำปากซัน
.
อีกทั้งยังช่วยให้ประชาชนเดินทางระหว่างจังหวัดบึงกาฬกับแขวงบอลิคำไช ได้สะดวกรวดเร็ว ลดระยะเวลาการเดินทาง รวมทั้งส่งเสริมภาคธุรกิจขนส่งและการท่องเที่ยวของทั้งสองประเทศ นอกจากนี้ ยังส่งผลไปถึงการท่องเที่ยวระหว่างประเทศไทย สปป. ลาว เวียดนาม และเชื่อมต่อไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีนทางตอนใต้อีกด้วย
ที่มา หอสมุดรัฐสภา / mgronline.com