เมนู

โครงการคลองระบายน้ำหลาก บางบาล-บางไทร “แม่น้ำเจ้าพระยา 2” บรรเทาภัยแล้ง-น้ำท่วม

02 ส.ค. 2024

โครงการคลองระบายน้ำหลาก “บางบาล-บางไทร” หรือ แม่น้ำเจ้าพระยา 2  ช่วยบรรเทาภัยแล้ง-น้ำท่วม โดยกรมชลประทานได้จัดทำแผนบรรเทาอุทกภัยเจ้าพระยาตอนล่าง 9 แผนงานที่มีความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยา และบรรเทาอุทกภัยในเขตพื้นที่ลุมน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง จึงมีความจำเป็นต้องขุดคลองระบายน้ำสายใหม่  โครงการนี้ได้รับอนุมัติให้ดำเนินการ เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2562  กำหนดแผนงานโครงการ 5 ปี วงเงิน 21,000 ล้านบาท  คาดว่าจะแล้วเสร็จในภายในปี 2566 แต่เกิดสถานการณ์โควิด จึงต้องขยายระยะเวลาก่อสร้างคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2568

โครงการคลองระบายน้ำหลาก “บางบาล-บางไทร” หรือ แม่น้ำเจ้าพระยา 2  มีความกว้าง 200 เมตร และมีความยาวกว่า 22.50 กิโลเมตร พร้อมงานสร้างถนนบนคันคลองกว้าง 8 เมตร ทั้ง 2 ฝั่ง และการก่อสร้างประตูระบายน้ำปลายคลองระบายน้ำหลากบางบาล – บางไทร จำนวน 4 บาน

การก่อสร้างดังกล่าวจะช่วยเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณก่อนเข้าตัวเมืองจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้ถึง 2,930 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยไม่เกิดผลกระทบกับบ้านเรือนริมตลิ่งที่อยู่ในคันกั้นน้ำ นอกจากนี้ยังช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ตัวเมืองพระนครศรีอยุธยาและพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างได้เฉลี่ย 1.9 – 2.5 ล้านไร่/ปี และสามารถลดระดับความลึกของน้ำท่วมลงได้ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มศักยภาพแหล่งน้ำสำหรับการใช้ประโยชน์พื้นที่ด้านการเกษตรกรรมรวม 229,138 ไร่ มีแหล่งน้ำสำรองในฤดูแล้งเพื่ออุปโภค-บริโภค 15 ล้านลูกบาศก์เมตร ครอบคลุมพื้นที่ 48 ตำบล 3 เทศบาล 362 หมู่บ้าน และยังเป็นเส้นทางสัญจรทางน้ำเลี่ยงตัวเมืองพระนครศรีอยุธยา เป็นถนนบนคันคลองซึ่งจะเป็นเส้นทางคมนาคมเชื่อมโยงระหว่างอำเภอบางบาล และอำเภอบางไทร และจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาอีกด้วย

โครงการคลองระบายน้ำหลาก “บางบาล – บางไทร” จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประกอบด้วย

1. ขุดคลองระบายน้ำสายใหม่ มีความยาวประมาณ 22.50 กม. ระบายน้ำได้สูงสุด 1,200 ลบ.ม./วินาที พร้อม ก่อสร้างถนนผิวจราจรแอสฟัสติคคอนกรีตบนคันคลองทั้ง 2 ฝั่ง ผิวจราจรมีความกว้าง 8 ม.

2. อาคารบังคับน้ำ ประเภทประตูระบายน้ำ จำนวน 1 แห่ง
– ประตูระบายน้ำปลายคลองระบายน้ำหลาก ขนาดบาน 12.50 x 9.50 ม. จำนวน 4 บาน อัตราการระบายน้ำสูงสุด1,200 ลบ.ม./วินาที และมีประตูเรือสัญจร ขนาดกว้าง 25.00 ม. ยาว 240.00 ม. จำนวน 1 ช่อง

3. สะพานรถยนต์ข้ามคลองระบายนํ้าหลาก จำนวน 11 แห่ง

4. อาคารประกอบคลองระบายน้ำ ประกอบด้วย สถานีสูบน้ำ และท่อระบายน้ำ บริเวณจุดตัดของคลองระบายน้ำหลากกับคลองส่งน้ำและคลองระบายน้ำที่มีอยู่เดิม จำนวน 36 แห่ง

5. กำแพงป้องกันตลิ่งบริเวณปลายคลองจุดบรรจบแม่น้ำเจ้าพระยาความยาวประมาณ 4.15 กม.

6. ปรับปรุง/ก่อสร้างคันกั้นน้ำรอบพื้นที่โครงการพร้อมอาคารประกอบ ความยาวรวม 54 กม.

ภาพข้อมูล TVD ASIA 24 อิตาเลียนไทย กรุงเทพธุรกิจ และ กรมชลประทาน

error: Content is protected !!